Credit

บริการสินเชื่อ

“สินเชื่อทั่วไป” หมายถึง การให้สินเชื่อแก่สมาชิก  ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติตามข้อ 13 หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจวินิจฉัยให้สินเชื่อตามแบบและวัตถุประสงค์  ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลามอนุมัติ ดังนี้
         (1)  อัลบัยอฺ มุรอบาฮะฮฺ หมายถึง   การซื้อขายสินค้าในราคาต้นทุนบวกกำไร
         (2)  อัลบัยอฺ  มุอัจญัล หมายถึง   การซื้อขายสินค้าในราคาต้นทุนบวกกำไร  โดยผู้ซื้อตกลงจ่ายเป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้
         (3) อัลบัยอฺ  สาลัม หมายถึง  การซื้อขายที่ผู้ซื้อตกลงจ่ายค่าสินค้าล่วงหน้า  และผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้ภายหลัง
         (4)  อัลบัยอฺ อิสติจรอรฺ หมายถึง  การซื้อขายที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงซื้อขายสินค้าชนิดหนึ่งเป็นรายวัน  รายสัปดาห์  หรือรายเดือน  ภายในระยะเวลาหนึ่งโดยได้ตกลงกันลักษณะของสินค้า ราคาสินค้าและจำนวนสินค้า ส่วนการจ่ายค่าสินค้านั้น จะจ่ายเป็นรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือนก็ได้
          (5)  อัลอิญาเราะฮฺ  หมายถึง   การเช่าหรือจ้าง   กล่าวคือการขายผลประโยชน์ หรือขายบริการด้วยราคาที่กำหนด  คำว่าผลประโยชน์นั้น  คือประโยชน์ที่สามารถใช้ได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สิน   ในขณะที่ความหมายการขายบริการ  คือการขายแรงงานทั้งที่ใช้แรงงาน   การบริการ  พลังความคิด  ทักษะความสามารถและอื่นๆ ที่สามารถนำมาคิดค่าจ้างได้
          (6) อัลบัยอฺ อิสติศนาอฺ  หมายถึง  การซื้อขายสิ่งที่สั่งให้ทำ  หรือสั่งให้ผลิตออกมา(การจ้างทำของ)  โดยคู่สัญญามีข้อกำหนด   รายละเอียดของประเภทของที่สั่งผลิต หรือสั่งทำ  ชนิด  ลักษณะ  ปริมาณ หรือจำนวนที่แน่นอน ชัดเจน  ไม่มีข้อคลุมเครือ  ไม่มีช่องทางที่จะขัดแย้งกัน

“หลักประกัน” หมายถึง หลักทรัพย์และ/หรือบุคคล/เงินฝาก

“หลักทรัพย์”  หมายถึง

      1. เงินหุ้นสมาชิกสหกรณ์
      2. เงินฝากสมาชิกสหกรณ์
      3. ที่ดินประเมินโดยสหกรณ์  คำนวณโดยนำราคาประเมินจากทางราชการและราคาตลาดหรือราคาที่แท้จริงถั่วเฉลี่ย
      4. ทองคำแท่งหรือทองคำรูปพรรณ


“บุคคล”  หมายถึง 

  1. บุคคลทั่วไปที่เป็นสมาชิกสหกรณ์
  2. ข้าราชการทุกระดับที่เป็นสมาชิกสหกรณ์
  3. พนักงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นสมาชิกสหกรณ์
  4. พนักงาน/เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นสมาชิกสหกรณ์

“มูลหนี้”  หมายถึง  วงเงินสินเชื่อรวมกับกำไรที่สหกรณ์กำหนด

หมวดที่  1

ข้อกำหนดทั่วไป

ข้อ  5.  สมาชิกที่ประสงค์ขอสินเชื่อ จะต้องเสนอคำขอกู้ตามแบบที่สหกรณ์กำหนดรวมทั้งรายละเอียดและหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นต่อการวินิจฉัยของผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติตามข้อ 13 หรือเจ้าหน้าที่สหกรณ์
ข้อ  6.  สมาชิกต้องดำเนินการให้ความสะดวกแก่ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติตามข้อ 13 หรือผู้ได้รับมอบหมายในการตรวจสอบการขอสินเชื่อ การตรวจสอบหลักประกันสินเชื่อ ตลอดจนการให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขอสินเชื่อ
ข้อ  7.   ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติตามข้อ 13 หรือผู้ได้รับมอบหมาย มีอำนาจวินิจฉัยให้สินเชื่อแก่สมาชิกตามระเบียบนี้และกรณีผู้ได้รับมอบหมาย ได้ใช้อำนาจวินิจฉัยให้สินเชื่อ จะต้องรายงานให้คณะกรรมการรับทราบในการประชุมคณะกรรมการคราวถัดไป

หมวดที่ 2

ประเภท สิทธิการให้สินเชื่อ วงเงินสินเชื่อ

 ข้อ 8 ประเภทการให้สินเชื่อ    การให้สินเชื่อแก่สมาชิก ได้สองประเภท

         1. เงินสินเชื่อก๊อรฺดุลหะซัน สหกรณ์จะให้สินเชื่อแก่สมาชิกได้ เฉพาะที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในเหตุเกิดแก่ตัวสมาชิกหรือบุคคลในครอบครัว

          2.  เงินสินเชื่อทั่วไป   สหกรณ์จะให้สินเชื่อแก่สมาชิกตามวัตถุประสงค์การให้สินเชื่อทั่วไป

 ข้อ 9 สิทธิการให้สินเชื่อ  สมาชิกมีสิทธิยื่นคำขอสินเชื่อได้ในกรณีดังต่อไปนี้

         1. สมาชิกที่มีอาชีพรับราชการ,พนักงานของรัฐวิสาหกิจ,พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ผู้ประกอบการ,ผู้รับจ้างเอกชน,และมีรายได้สามารถหัก ณ ที่จ่ายได้ โดยชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า , ชำระค่าหุ้นให้แก่สหกรณ์และเป็นสมาชิกสหกรณ์มาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน

         2. สมาชิกที่มีอาชีพอื่น ๆ โดยชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า , ชำระค่าหุ้นให้แก่สหกรณ์และเป็นสมาชิกสหกรณ์มาแล้วอย่างน้อย  12 เดือน

 ข้อ 10 วงเงินสินเชื่อ

        1. ประเภทสินเชื่อก๊อรฺดุลหะซัน  วงเงินสินเชื่อไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินหุ้นที่ชำระแล้ว แต่ไม่เกิน 3,000.00 (สามพันบาทถ้วน) 

         อนึ่ง สหกรณ์อาจจะเปลี่ยนแปลงวงเงินสินเชื่อก๊อรฺดุลหะซันได้ โดยจะประกาศเป็นคราว ๆ ไป

        2.  ประเภทสินเชื่อทั่วไป วงเงินสินเชื่อสำหรับสมาชิกรายหนึ่งไม่เกิน 2,000,000.00 บาท (สองล้านบาทถ้วน) ทั้งจะต้องชำระเงินหุ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และมีเงินรับฝากร้อยละ 5 ของวงเงินที่ขอสินเชื่อ เว้นแต่สมาชิกที่มีเงินหุ้นเกินร้อยละ 15 แล้ว

          อนึ่ง สำหรับสมาชิกที่กู้เพื่อซื้อหรือสร้างสาธารณประโยชน์หรือการศึกษาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น โรงเรียน องค์กรทางศาสนา เป็นต้น วงเงินสินเชื่อรายหนึ่งไม่เกิน   5,000,000.00 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) และต้องมีหุ้นหรือเงินฝากไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของวงเงินสินเชื่อ

 ข้อ 11 การขอสินเชื่อเพิ่ม  สมาชิกที่ยังคงมีหนี้สินเชื่อทั่วไป ประสงค์จะขอใช้สินเชื่อเพิ่ม จะต้องผ่อนชำระหนี้เดิมมาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินสินเชื่อ   ทั้งนี้รวมวงเงินทั้งสองสัญญาแล้วไม่เกินวงเงิน 2,000,000.00 บาท (สองล้านบาทถ้วน)

เว้นแต่ สมาชิกที่กู้เพื่อซื้อหรือสร้างสาธารณประโยชน์หรือการศึกษาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รวมสองสัญญาแล้วไม่เกินวงเงินไม่เกิน 5,000,000.00 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน)

 ข้อ 12 การผ่อนชำระคืนให้แก่สหกรณ์สามารถเลือกแบบข้อใดข้อหนึ่งที่ระบุในสัญญา ดังนี้

          (1) ผ่อนชำระแบบเท่ากันทุกงวด

          (2) ผ่อนชำระแบบกำหนดตามส่วนที่กำหนดเป็นงวด ๆ

         ทั้งนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแบบการผ่อนชำระอีกหลังทำสัญญาสินเชื่อแล้ว

หมวดที่ 3

อำนาจการพิจารณาอนุมัติ

ข้อ 13 อำนาจการพิจารณาอนุมัติ ตามระดับดังนี้

         1. วงเงินไม่เกิน   50,000.00 บาท ให้อยู่ในอำนาจผู้จัดการสาขา

         2. วงเงินตั้งแต่   50,001.00 – 100,000.00 บาท  ให้อยู่ในอำนาจของ รองผู้จัดการใหญ่

         3. วงเงินตั้งแต่   100,001.00 – 200,000.00 บาท    ให้อยู่ในอำนาจของผู้จัดการใหญ่

         4. วงเงินตั้งแต่   200,001.00 – 400,000.00 บาท    ให้อยู่ในอำนาจของคณะอนุกรรมการสินเชื่อสาขา

         5. วงเงินตั้งแต่  400,001.00 – 600,000.00  บาท     ให้อยู่ในอำนาจของคณะผู้จัดการใหญ่

         6. วงเงินตั้งแต่  600,001.00-1,000,000.00 บาท  ให้อยู่ในอำนาจของคณะอนุกรรมการสินเชื่อ

          7. วงเงินตั้งแต่ 1,000,001.00 บาท     ให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ    

          เว้นแต่ กรณีที่สมาชิกผู้ขอสินเชื่อใช้หลักทรัพย์เงินฝากสมาชิก โดยจะต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของบัญชีค้ำประกันที่มีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่ามูล  หนี้ ให้อยู่ในอำนาจตามข้อ  13 (1) พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 2,000,000.00 บาท (สองล้านบาทถ้วน)

หมวดที่ 4

หลักประกันสำหรับเงินสินเชื่อ

  ข้อ 14 หลักประกันสำหรับเงินสินเชื่อ แบ่งตามวงเงินดังนี้

                  (1) วงเงินไม่เกิน 50,000.00 บาท จะต้องมีหลักประกัน ดังนี้

                          (1.1) บุคคลทั่วไป จำนวนไม่เกิน 2 คน หรือ

                          (1.2) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่ามูลหนี้ หรือ

                          (1.3)  บุคคลข้าราชการ หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ

                           (1.4) บุคคลที่มีเงินฝากเพียงพอต่อมูลหนี้

                  (2) วงเงินตั้งแต่ 50,001.00 – 100,000.00 บาท จะต้องมีหลักประกัน ดังนี้

                           (2.1) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่ามูลหนี้ หรือ

                           (2.2) บุคคลข้าราชการ หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ

                           (2.3) บุคคลที่มีเงินฝากเพียงพอต่อมูลหนี้ หรือ

  (2.4) กรณีที่ผู้ใช้สินเชื่อที่มีประวัติการชำระอยู่ในเกณฑ์ดี  (จากประวัติการชำระ

หนี้ที่ผ่านมา ไม่ผิดสัญญาตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป) อย่างน้อยสองสัญญาสุดท้ายให้ใช้บุคคลทั่วไปจำนวน 2 คน ค้ำประกันได้โดยอนุโลม    

                  (3) วงเงินตั้งแต่ 100,001.00 – 200,000.00 บาท จะต้องมีหลักประกัน ดังนี้

                           (3.1) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่ามูลหนี้ หรือ

                           (3.2) บุคคลข้าราชการ หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำนวน 2 คน หรือ

                           (3.3) บุคคลที่มีเงินฝากเพียงพอต่อมูลหนี้ หรือ

                           (3.4) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าน้อยกว่ามูลหนี้  ให้ใช้บุคคลข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  เพิ่มอีกจำนวน 1 คน

                  (4) วงเงินตั้งแต่ 200,001.00 – 400,000.00 บาท จะต้องมีหลักประกัน ดังนี้

                          (4.1) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่ามูลหนี้ หรือ

                          (4.2) บุคคลที่มีเงินฝากเพียงพอต่อมูลหนี้ หรือ

                          (4.3) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าน้อยกว่ามูลหนี้  ให้ใช้บุคคลข้าราชการ หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  เพิ่มอีกจำนวน 1 คน

                  (5) วงเงินตั้งแต่ 400,001.00 – 600,000.00 บาท จะต้องมีหลักประกัน ดังนี้

                         (5.1) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่ามูลหนี้ หรือ

                         (5.2) บุคคลที่มีเงินฝากเพียงพอต่อมูลหนี้ หรือ

                         (5.3) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าน้อยกว่ามูลหนี้  ให้ใช้บุคคลข้าราชการ หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  เพิ่มอีกจำนวน 2 คน

                  (6) วงเงินตั้งแต่ 600,001.00 – 1,000,000.00 บาท จะต้องมีหลักประกัน ดังนี้

                           (6.1) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่ามูลหนี้ หรือ

                           (6.2) บุคคลที่มีเงินฝากเพียงพอต่อมูลหนี้ หรือ

                           (6.3) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าน้อยกว่ามูลหนี้  ให้ใช้บุคคลข้าราชการ หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  เพิ่มจำนวน 2 คนและบุคคลทั่วไปอีก 1 คน

                  (7) วงเงินตั้งแต่  1,000,001.00 บาทขึ้นไป จะต้องมีหลักประกัน ดังนี้

                           (7.1) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่ามูลหนี้ หรือ

                           (7.2) บุคคลที่มีเงินฝากเพียงพอต่อมูลหนี้ หรือ

                           (7.3) หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าน้อยกว่ามูลหนี้  ให้ใช้บุคคลข้าราชการ หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  เพิ่มจำนวน 2 คนและบุคคลทั่วไปอีก 2 คน

                  กรณีที่สมาชิกมีหุ้นเท่ากับหรือมากกว่ามูลหนี้ สามารถทำสินเชื่อได้โดยไม่ต้องมีการค้ำประกันก็ได้                  

อนึ่ง บุคคลจะค้ำประกันในคราวเดียวกันเกินกว่า 2 สัญญาไม่ได้ และ กรณีใช้บุคคลที่เป็น ข้าราชการ หรือ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ค้ำประกันช่วงอายุราชการที่มีอยู่เท่านั้น

หมวดที่ 5

เงินงวดชำระหนี้

ข้อ 15 กำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ของเงินสินเชื่อดังนี้

                  (1) สำหรับเงินสินเชื่อก๊อรฺดุลหะซัน ให้ชำระเสร็จสิ้นภายใน 10 เดือนนับแต่วันที่อนุมัติ

                  (2) สำหรับเงินสินเชื่อทั่วไป  ให้ชำระเสร็จสิ้นภายระยะเวลา ดังนี้

                           (2.1) เพื่อซื้อยานพาหนะใช้แล้ว ให้ผ่อนชำระภายใน 60 งวด หรือ 5 ปี

                           (2.2) เพื่อซื้อยานพาหนะใหม่ ให้ผ่อนชำระภายใน 84 งวด หรือ 7 ปี

                           (2.3) ซื้อที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย ให้ผ่อนชำระภายใน 180 งวด หรือ 15 ปี

                                    อนึ่ง หากซื้อที่ดินเพื่อพาณิชย์ ให้ผ่อนชำระภายใน 84 งวด หรือ 7 ปี

                           (2.4) สร้างสิ่งปลูกสร้าง ให้ผ่อนชำระภายใน 300 งวด หรือ 25 ปี    

                           (2.5) ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้ผ่อนชำระภายใน 300 งวด หรือ 25 ปี            

                           (2.6) เพื่อขยาย / ต่อเติม / ซ่อมแซม สิ่งปลูกสร้าง ให้ผ่อนชำระภายใน 120 งวด หรือ 10 ปี

  (2.7) เพื่อการอื่น ๆ  ให้ผ่อนชำระภายใน 120 งวด หรือ 10 ปี 

หมวดที่ 6

อัตรากำไร

   ข้อ 16 ให้คิดอัตรากำไรในอัตราที่สหกรณ์กำหนด โดยจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป

หมวดที่ 7

การอนุมัติเงินให้สินเชื่อ

         ข้อ 17 ในกรณีผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติตามข้อ 13 ไม่สามารถพิจารณาอนุมัติได้หรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติที่สูงกว่าดำเนินการพิจารณาอนุมัติต่อไปได้

         ข้อ 18 การแก้ไขระเบียบนี้ สามารถกระทำได้โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ขององค์ประชุมของคณะกรรมการ

         ข้อ 19 ในกรณีที่มีการขอสินเชื่อนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด

         ข้อ 20 การให้สินเชื่อแก่สมาชิกในนามองค์กรหรือหน่วยงาน ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติตามข้อ 13 เป็นผู้พิจารณา โดยผู้ขอสินเชื่อจะต้องแนบหลักฐาน คือรายการประชุมของคณะกรรมการองค์กรหรือหน่วยงานนั้น โดยมีประเด็นสำคัญคือ จะขอใช้สินเชื่อจากหน่วยงานไหนและระบุผู้ทำนิติกรรมที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ เพิ่มเติมด้วย

         ข้อ 21 ให้ประธานกรรมการเป็นผู้รักษาให้เป็นไปตามระเบียบฉบับนี้